วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

รอบรู้เรื่อง "มุมมองภาพ"




เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ให้ดูภาพประกอบ Angle of View ด้านบนนี้เป็นรูปที่เกิดจากเลนส์ทางยาวโฟกัสต่างๆ และมุมมองภาพที่ได้ต่อทางยาวโฟกัสนั้นๆ (กดที่ภาพเพื่อขยาย)

มุมมองภาพ (Angle of View)
ทางยาวโฟกัสของเลนส์ เป็นตัวบ่งบอกพื้นที่ซึ่งเป้าหมายจะถูกสร้างเป็นภาพขึ้นบนพื้นผิวเซ็นเซอร์ มุมมองภาพหรือ Angle of View เป็นมุมหรือองศาของภาพที่เกิดจากเลนส์ จำได้ว่าตอนเรียนวิทยาศาสตร์ คุณครูสอนว่าตาเรามองเห็นภาพ เกิดจากแสงกระทบวัตถุ แล้วสะท้อนมาที่ดวงตาเรา (คงไม่ต้องพูดให้ฟังถึงขั้นเรตินาในดวงตา อิอิ) มุมที่ตาคนเรามองเห็นค่อนข้างกว้าง วัดเป็นองศาได้โดยให้ตัวเราเป็นจุดศูนย์กลาง ด้านหน้าตัวเราเป็นระนาบแกน y ส่วนระนาบแกน x คือเส้นที่ลากผ่านแขนซ้ายไปทะลุแขนขวา องศาที่คนเราสามารถมองเห็นด้านหน้าจะเป็นรูปกรวย ประมาณ 80 องศาน่าจะได้

เลนส์เป็นตัวรับแสงเข้ามาและกระจายแสงลงสู่ผิวเซ็นเซอร์ เปรียบได้กับการฉายภาพ คุณสมบัติของเลนส์จะแตกต่างกันตามทางยาวโฟกัส เช่น 28mm, 135mm ตัวเลขทางยาวโฟกัสยิ่งน้อย ยิ่งให้มุมมองภาพกว้าง ถ้าทางยาวโฟกัสตัวเลขสูง เช่น 200mm มุมมองภาพก็จะแคบลง และเมื่อมุมมองภาพแคบลง วัตถุที่เราโฟกัสก็จะขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติของเลนส์ซูมนั่นเอง

ประโยชน์ของมุมมองภาพที่ทางยาวโฟกัสต่างๆ จะช่วยให้เราได้เพอสเปคทีพของภาพที่แตกต่างกัน งานนี้ก็ขึ้นอยู่กับคนหลังกล้องแล้วล่ะครับ ว่าจะเลือกใช้ทางยาวโฟกัสช่วงไหน เพื่อสร้างภาพถ่ายในแบบฉบับของตนเอง

คำแนะนำเกี่ยวกับมุมมองภาพ

มุมกว้าง ตั้งแต่ทางยาวโฟกัส 35mm ลงมา เป็นมุมกว้าง เรียกว่าไวด์ (wide) เหมาะสำหรับถ่ายภาพวิว ทิวทัศน์ จะเห็นว่าเลนส์คิทที่แถมมากับกล้อง DSLR มักจะเป็นเลนส์นอมอลซูม หรือ ช่วงซูมปกติ เช่น 18-55mm ของแคนนอน คูณตัวคูณ (FOV : จะเล่าให้ฟังอีกครั้งเร็วๆ นี้) เทียบเท่า 28-88mm ในกล้อง 35mm หมายความว่าช่วงมุมกว้างสุดของเลนส์คิทกระบอกนี้คือ 28mm จะให้มุมกว้างที่ใกล้เคียงกับตาคนมองเห็น เหมาะสำหรับถ่ายภาพเหมือนตาเห็น เช่นภาพวิว ภาพหมู่ เป็นต้น
มุมกว้างพิเศษ ตั้งแต่ทางยาวโฟกัสต่ำกว่า 28mm ลงมา เช่น 24mm, 20mm เป็นช่วงทางยาวโฟกัสที่ให้มุมมองภาพกว้างกว่า 80 องศา เรียกได้ว่ากว้างกว่าสายตาคนมองเห็น ช่วงนี้จะให้เพอสเปคทีพที่แปลกตา ยิ่งถ้าเป็นเลนส์มุมกว้างแบบฟิซอาย หรือ เลนส์ตาปลา ก็จะให้มุมมองเหมือนที่สายตาของปลามองเห็น (คงไม่แปลกใจที่ปลาจะมองเห็นไปถึงด้านหลัง เพราะอย่างนี้นี่เอง ฮาๆ)
เทเลโฟโต้ คงไม่เรียกว่ามุมแคบ เพราะมันฟังดูแปร่งๆ เอาเป็นว่า เทเลโฟโต้หมายถึงรูปภาพที่ซูมถ่ายจากระยะไกล ช่วงที่เหมาะสำหรับถ่ายภาพคน ว่ากันว่าอยู่ที่ทางยาวโฟกัสราว 80 ถึง 135mm เพราะนอกจากจะได้ภาพครึ่งตัวของคนที่เพอสเปคทีพไม่ผิดเพี้ยนแล้ว ภาพถ่ายแนวเทเลโฟโต้ยังมีจุดเด่นที่การเบลอฉากหลัง หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่าละลายฉากหลังนั่นเอง หน้าชัดหลังเบลอ ทำให้ภาพบุคคลดูลอยเด่นขึ้นมา ทั้งนี้จะเบลอมาก เบลอน้อย ค่ารูรับแสงหรือค่า f มีส่วนเกี่ยวข้องเยอะทีเดียว (ไว้คุยกันตอนหน้า)
ซุปเปอร์ซูม หรือซุปเปอร์เทเลโฟโต้ เลนส์ที่ช่วงทางยาวโฟกัสสูงๆ เช่น 300mm เป็นต้นไป ยิ่งตัวเลขสูง ยิ่งให้กำลังซูมที่ไกลมาก ละลายฉากหลังได้มาก ที่ตามมาคือมีโอกาสเบลอได้ง่ายถ้าความเร็วชัตเตอร์น้อย ส่วนใหญ่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพนก ภาพสัตว์แบบไวด์ไลฟ์ หรือ ชีวิตสัตว์โลก ภาพถ่ายกีฬากลางแจ้ง เช่นฟุตบอล ภาพแนวนี้ส่วนใหญ่ฉากหลังจะละลาย การคุมค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายช่างภาพพอสมควร ... ใครจะเป็นปาปารัสซี่ก็ต้องใช้เลนส์ช่วงทางยาวโฟกัสอย่างนี้ล่ะครับ

ขอบคุณบทควาทดีๆ จาก Pixview.net ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น