วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

ระบบเลนส์แบบ FOLDED OPTIC


หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า FOLDED OPTIC กันมาบ้างแล้ว นักถ่ายภาพที่สนใจเรื่องเทคโนโลยี เรื่องอุปกรณ์ถ่ายภาพ คงทราบดีว่า FOLDED OPTIC คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไรต่อการออกแบบกล้องดิจิตอลรุ่นใหม่ๆ แต่นักถ่ายภาพมือใหม่ส่วนใหญ่คงไม่รู้ว่า FOLDED OPTIC คืออะไรและมีดีอย่างไร

FOLDED OPTIC เป็นการออกแบบระบบออฟติคอลซูมรูปแบบใหม่ ซึ่งเพิ่งจะมีใช้ในกล้องดิจิตอลเมื่อราวๆ 2-3 ปีมานี้เอง โดยผู้ผลิตกล้องจากญี่ปุ่น MINOLTA กับ กล้องดิจิตอลรุ่น DIMAGE X

กล้องคอมแพคดิจิตอลในช่วง 3-4 ปีก่อน หากจะออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัดแบนและบางแบบ CARD SIZE มักจะต้องใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดียว เพราะถ้าใช้เลนส์ซูมจะมีข้อจำกัดในเรื่องกระบอกเลนส์ เพราะแม้จะใช้กระบอกซ้อนกัน 2-3 ชั้น มันต้องใช้พื้นที่ของตัวกล้องมากพอควรในการบรรจุกระบอกเลนส์และชุดเลนส์ที่พับเก็บแล้ว ความหนาของตัวกล้องจึงไม่น้อยกว่า 22 มม. ทำให้ไม่สามารถออกแบบให้กล้องบางกว่านั้นได้

มินอลต้าจึงพัฒนาระบบเลนส์ซูมรูปแบบใหม่ คือแทนที่จะให้ชิ้นเลนส์เคลื่อนออกมาพร้อมกับกระบอกเลนส์เป็นระยะทาง 15-30 มม. มินอลต้ากลับวางชิ้นเลนส์และระบบกลไกของกระบอกเลนส์ไว้ภายในตัวกล้องทั้งหมด วางเลนส์ชิ้นหน้าไว้มุมขวาบน ด้านหลังของเลนส์ชุดหน้าจะเป็นปริซึม 45 องศา เพื่อหักเหแสงที่ผ่านจากเลนส์ชุดหน้าไปยังชุดเลนส์ด้านในตัวกล้อง เลนส์ชิ้นหน้าไม่มีการขยับเลื่อนออกมาจากตัวกล้อง ต้องใช้การสังเกตสักหน่อยจึงพอจะมองเห็นการเคลื่อนที่ของชุดเลนส์ด้านใน

ระบบซูม FOLDED OPTIC ทำให้สามารถออกแบบกล้องให้มีขนาดกะทัดรัดและบางได้ แม้จะเปิดใช้งานตัวกล้องก็ยังคงบางเฉียบเช่นเดิม ข้อดีอีกเรื่องคือทำให้สามารถลดเวลาในการเปิดเครื่องได้อีกพอควร เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการเลื่อนกระบอกเลนส์ออกมายังตำแหน่งใช้งาน กล้องจึงพร้อมถ่ายในเวลารวดเร็วกว่า

ระบบซูมแบบ FOLDED OPTIC จึงเป็นทางออกของการออกแบบกล้อง ULTRA SLIM ทั้งหลาย จากกล้องอนุกรม X ของโคนิก้ามินอลต้า ผลิตกล้องที่ใช้เลนส์ฃูมแบบนี้ออกมาหลายรุ่นคือ Dimage X, Xt, Xg X50 และ X60 ผู้ผลิตรายถัดมาที่ใช้ระบบซูมรูปแบบนี้ก็คือ SONY กับกล้องอนุกรม T คือ T1, T33 และ T7 ตามมาด้วย Nikon S1, S2 และ SAMSUNG i5 ส่วน CANON, PENTAX และ CASIO ยังไม่ใช้ระบบซูมแบบนี้ แต่ออกแบบเลนส์ซูมให้บางลงด้วยการใช้กระบอกเลนส์ 3-4 ชั้นและใช้ระบบเลื่อนชุดเลนส์บางชุดออกเมื่อพับเก็บเลนส์

ขอขอบคุณบทความนี้ จากนิตยสาร FOTOINFO MAGAZINE No.4: กรกฎาคม 2548 (เก่าไปหน่อย แต่ความรู้เหมือนกัน อิอิ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น